T

Take- Home Pay ค่าจ้างสุทธิ

จำนวนเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับหลังจากหักภาษีเงินสะสมหรือรายการอื่นตามกฎหมายและ / หรือตามความตกลงกับนายจ้าง


Tandem Increases การปรับค่าจ้างให้สัมพันธ์กัน

การปรับหรือเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้างเฉพาะกลุ่ม ให้สัมพันธ์กับการเพิ่มค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องกัน


Tapered Wage Increase การขึ้นค่าจ้างให้ใกล้เคียงกัน

การลดความแตกต่างของค่าจ้างให้น้อยลง โดยการปรับให้ผู้ที่ได้ค่าจ้างต่ำได้รับการเพิ่มค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่ได้รับค่าจ้างสูง


Tardiness การมาสาย

การมาทำงานสายหรือถึงที่ทำงานช้ากว่าเวลาทำงานที่กำหนด บางแห่งถือว่าการขาดงานน้อยกว่าครึ่งวันเป็นการมาสาย


Target เป้าหมายของรายได้

รายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำงานเป็นรายชิ้นตามเป้าหมายที่กำหนด


Task งานหนัก

งานที่ต้องใช้ความสามารถและความพยายามในการทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายในเวลาที่กำหนด


Task Force หน่วยปฏิบัติการพิเศษ

กลุ่มคนซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจพิเศษ เป็นการเฉพาะกิจ ผู้ได้รับมอบหมายต้องเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีประสบการณ์และความสามารถในการปฏิบัติงานนั้น เมื่องานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ หน่วยปฏิบัติการพิเศษก็จะสลายตัว คล้ายกับ Working group


Technocracy การจัดการและบริหารองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ทฤษฎีการจัดการและบริหารองค์กรทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการนำวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อย่างเป็นระบบ โดยถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการบริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา


Technological Change การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตโดยนำเครื่องจักร เครื่องมือสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่อาจเป็นผลให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง


Temporary Arbitrator ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเฉพาะกิจ

โดยทั่วไปเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นคู่กรณีให้เป็นผู้ทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานในส่วนที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งเป็นการชี้ขาดโดยสมัครใจ หน้าที่ของผู้ชี้ขาดดังกล่าวจะจบสิ้นลงเมื่อได้ทำการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทเฉพาะราย หรือกรณีนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว


Temporary Disability การสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานเป็นการชั่วคราว

การที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย จนไม่สามารถทำงานได้เป็นการชั่วคราว


Temporary Employee ลูกจ้างชั่วคราว

ลูกจ้างซึ่งรับจ้างทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลา หรือเป็นการชั่วคราว โดยทั่วไปจะเป็นการจ้าง ในกรณีที่มีงานเร่งด่วน หรือมีปริมาณงานที่ต้องทำมากในช่วงเวลานั้น การจ้างงานจะสิ้นสุดลง เมื่องานนั้นเสร็จสิ้น ลูกจ้างชั่วคราวไม่มีการสะสมอายุงานหรือคำนึงถึงอาวุโส


Temporary Layoff การเลิกจ้างชั่วคราว

การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุบางประการที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง โดยคาดว่าลูกจ้างจะได้กลับมาทำงานอีกเมื่อนายจ้างมีงานให้ทำ


Tenure การครองตำแหน่ง

ระบบการจ้างงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานตามปกติไปได้เรื่อย ๆจนกว่าจะเกษียณอายุ ยกเว้นในบางกรณี เช่น ภาวะฉุกเฉินทางการเงิน การตลาด หรือเหตุจำเป็นอื่นๆ ระบบการจ้างงานดังกล่าว จะคำนึงถึงอาวุโส และผลงานที่ทำด้วย


Termination การสิ้นสุดการจ้าง

การทำให้ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลง โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ริเริ่ม เช่น นายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออก


Trade Union สหภาพแรงงาน

ดูคำว่า Labour Union


Trial Period ระยะทดลองงาน

คือ ระยะเวลาที่นายจ้างให้ลูกจ้างผู้เข้าทำงานใหม่ทดลองปฏิบัติงาน เพื่อพิสูจน์หรือแสดงความสามารถว่าจะทำงานต่อไปได้หรือไม่เพียงไร และเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างด้วย


Trick, Tour กะ

ดูคำว่า Shift


Tripartite Boards คณะกรรมการไตรภาคี

เป็นคณะกรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทน ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาล เพื่อทำกิจกรรมหรือดำเนินงานด้านแรงงานร่วมกัน เช่น สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานคณะกรมการแรงงานสัมพันธ์


Troubled Employee ลูกจ้างที่มีปัญหา

ลูกจ้างที่มีปัญหาในการทำงาน หรือปัญหาส่วนตัวมากกว่าปกติ เช่น มีปัญหากับฝ่ายจัดการ กับผู้ร่วมงาน ขาดงานบ่อย มาทำงานสาย ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน คุณภาพและผลงานต่ำ ติดสุรา สิ่งเสพติดให้โทษ มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ มีปัญหาครอบครัว หรือปัญหาด้านการเงิน เป็นต้น