Earnings รายได้จากการทำงาน
ค่าจ้างและค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ลูกจ้างได้รับทั้งหมด เนื่องจากการทำงาน นอกเหนือจากค่าจ้าง อาจเป็นผลพลอยได้จากการทำงานหรือผลประโยชน์พิเศษ โบนัส ค่าธรรมเนียม ค่าล่วงเวลา ฯลฯ เหล่านี้นับเป็นรายได้ที่ลูกจ้างได้รับเนื่องจากการทำงาน
Economic Action ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ
โดยทั่วไปเป็นการกระทำของฝ่ายลูกจ้างต่อฝ่ายนายจ้างเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งมักกระทำในรูปของการนัดหยุดงาน การถือป้ายโฆษณาโจมตี บอยคอตฯ และในบางครั้งฝ่ายนายจ้างอาจเป็นผู้กระทำเพื่อตอบโต้หรือแก้เผ็ดฝ่ายลูกจ้างก็ได้
Economic Sanctions การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ
การกระทำของฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายนายจ้างที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จงใจทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียผลประโยชน์เพื่อเป็นการลงโทษ เนื่องจากการละเมิดข้อตกลง บิดเบือน หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา
Economic Strike การนัดหยุดงานเพื่อผลทางเศรษฐกิจ
การนัดหยุดงานเพื่อบีบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่าจ้าง ชั่วโมงทำงานหรือสภาพการทำงาน ต่างกับการนัดหยุดงานเพื่อประท้วงในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม (ดูคำว่า unfair labour practice strike)
Employed Persons ผู้มีงานทำ
เป็นผู้ทำงานที่ได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งของอื่นๆ และผู้ทำงานในวิสาหกิจหรือไร่นาเกษตรกรรมของหัวหน้าครัวเรือนหรือของสมาชิกในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รวมทั้งผู้ที่อยู่ในระหว่างหยุดงานชั่วคราวเนื่องจากเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ หยุดพักผ่อน สถานที่ทำงานปิดชั่วคราว ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย นอกฤดูกาล หรือด้วยเหตุผลอื่น ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในระหว่างที่ไม่ได้มาทำงานหรือไม่ก็ตาม
Employed, Employ การจ้างหรือรับจ้างทำงาน
การจ้างหรือรับจ้างทำงานเพื่อให้หรือรับค่าตอบแทน
Employee ลูกจ้าง
ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดไว้ว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน
Employee Association สมาคมลูกจ้าง
องค์กรที่ลูกจ้างในสถานประกอบการเดียวกันร่วมกันจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมเพื่อพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องทั่วๆ ไป
Employee Benefits ผลประโยชน์เกื้อกูลของลูกจ้าง
ผลประโยชน์ที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือจากค่าจ้าง เพื่อประกันความมั่นคงและเป็นสิ่งจูงใจในการทำงานของลูกจ้าง เช่น ให้การรักษาพยาบาล สิทธิการลาป่วย เงินบำเหน็จ เงินกู้ฉุกเฉิน วันหยุดพักผ่อน และสวัสดิการอื่นๆ
Employee Rule Book,Employee Handbook คู่มือพนักงาน
เอกสารที่นายจ้างจัดทำขึ้น เพื่อการปฐมนิเทศสำหรับลูกจ้างใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะบอกความเป็นมาของสถานประกอบการอย่างย่อๆ นโยบาย ระเบียบข้อบังคับการทำงานสิทธิและผลประโยชน์ที่ลูกจ้างหรือพนักงานพึงได้รับ
Employer นายจ้าง
ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดไว้ว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล
Employer Association สมาคมนายจ้าง
องค์กรที่นายจ้างในอุตสาหกรรมและในท้องที่เดียวกันร่วมกันจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมเพื่อหารือในการแก้ไขปัญหาหรือร่วมเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงาน
Employment Agencies สำนักงานจัดหางาน
หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐหรือเอกชนเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างนายจ้างหรือผู้ที่ต้องการจ้างงานกับผู้ที่หางานทำ
Employment Certificate ใบสำคัญการทำงานหรือใบรับรองการผ่านงาน
เอกสารที่นายจ้างจัดทำขึ้นเพื่อให้การรับรองหรือเป็นเครื่องแสดงและยืนยันว่าลูกจ้างหรือบุคคลที่ระบุชื่อในเอกสารนั้นเป็นผู้ที่ทำงานหรือเคยปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ใดในสถานประกอบการของนายจ้างมาเป็นเวลานานเท่าใด
Employment Contract สัญญาการจ้างงาน
ข้อผูกพันหรือสัญญาที่ทำขึ้น เมื่อมีการตกลงจ้างงานกันระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง โดยทั่วไปจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น ค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ ฯลฯ
Employment Forecasting ประมาณการการจ้างงาน
การคาดคะเนแนวโน้มหรือประมาณการจำนวนการจ้างงานทั้งหมดที่จะมีในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในแต่ละอุตสาหกรรม ในแต่ละท้องถิ่น จังหวัดหรือทั้งประเทศ และความต้องการจ้างงานประเภทใด จะมีในช่วงเวลาไหนเพื่อเตรียมการตอบสนองความต้องการแรงงานไว้
Employment Guarantee การประกันการจ้างงาน
ระบบหรือการวางแผนเพื่อให้ลูกจ้างมีความมั่นคงในการทำงานหรือมีงานทำตลอดปี โดยการกำหนดระยะเวลาในการทำงานไว้ให้แน่นอน รวมทั้งจำนวนค่าจ้างที่สมดุลย์หรือเหมาะสมกับงานด้วย
Employment Stabilization เสถียรภาพในการจ้างงาน
ความมั่นคงในการจ้างงาน ซึ่งเกิดจากประสิทธิภาพในการทำงานทั้งของภาครัฐและเอกชนที่สามารถจัดให้มีการจ้างงานหรือทำให้คนมีงานทำโดยสม่ำเสมอตลอดปี
End Spurt การโหมกำลังผลิต
การเร่งเพิ่มผลผลิตในช่วงสุดท้ายของงานเพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ทันตามกำหนดเวลา โดยใช้คนทำงานอย่างหนักเต็มที่ แม้ว่าคนงานจะต้องเหน็ดเหนื่อยตลอดวันหรือตลอดช่วงเวลาของการเร่งผลิต
Enforcement Strike การนัดหยุดงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลง
การนัดหยุดงานเนื่องจากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญาการจ้างงานหรือตามคำวินิจฉัยชี้ขาด รวมทั้งการที่นายจ้างพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ลูกจ้างต้องการให้เป็นไปตามเดิม
Equal Pay การจ่ายค่าจ้างเท่ากัน
การจ่ายค่าจ้องให้เท่าเทียมกัน สำหรับการทำงานที่มีลักษณะงาน สภาพการทำงาน คุณภาพของงานและปริมาณงานที่เท่ากันและเหมือนกัน โดยไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ
Escalator Clause หลักการปรับค่าจ้างตามค่าครองชีพ
ข้อตกลงหรือหลักการที่ระบุให้ค่าจ้างเปลี่ยนแปลงตามค่าครองชีพ ข้อตกลงหรือหลักการดังกล่าวนี้มักจะสืบเนื่องมาจากการร่วมเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และได้ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้นายจ้างปรับค่าจ้างขึ้นลงได้ตามภาวะค่าครองชีพ กล่าวคือ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นและอาจลดลงได้เมื่อค่าครองชีพต่ำลง (แต่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด) ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามสัดส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น
Exit Interview การสัมภาษณ์ผู้ลาออก
การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลพบปะพูดคุยกับลูกจ้างผู้ลาออกจากงานเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการลาออก ตลอดจนความคิดเห็นของลูกจ้างที่มีต่อสภาพการจ้างงาน นโยบายและการบริหารงานของสถานประกอบการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงการบริหารงานและลดการเข้าออกงาน ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์อันดีและความรู้สึกที่ดีของลูกจ้างที่จะออกจากงานไป