B

Back Pay ค่าจ้างย้อนหลัง

เป็นค่าจ้างหรือรายได้ซึ่งนายจ้างจ่ายย้อนหลังให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของศาล ตามคำวินิจฉัยของผู้ชี้ขาดหรือตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าจ้างย้อนหลังในกรณีที่มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน เงินค่าจ้างซึ่งจ่ายย้อนหลังเป็นการเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำหรือเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างตามข้อร้องทุกข์


Back-To-Work การกลับเข้าทำงาน

การที่คนงานกลับเข้าทำงานภายหลังการนัดหยุดงานปกติการนัดหยุดงานมักจะเป็นไปชั่วคราว บางครั้งคนงานจะยุติการนัดหยุดงานเอง และกลับเข้าทำงานอีก แต่บางครั้งนายจ้างจะเป็นผู้ทำลายการนัดหยุดงาน ทำให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปตามปกติ ก่อนที่การนัดหยุดงานจะดำเนินต่อไปจนถึงที่สุด


Bargaining Agent ผู้แทนร่วมเจรจาต่อรอง

สหภาพแรงงานที่นายจ้างให้การยอมรับ หรือหน่วยงานของรัฐให้การรับรองให้เป็นผู้แทนลูกจ้างในการร่วมเจรจาต่อรอง


Bargaining Agent , For Members only ผู้แทนเจรจาต่อรองเฉพาะสมาชิก

สหภาพแรงงานที่เป็นผู้แทนร่วมต่อรองเฉพาะสมาชิกของตน และข้อตกลงจะมีผลใช้เฉพาะกับสมาชิกเท่านั้น


Bargaining Rights สิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง

สิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายในการร่วมเจรจาต่อรองกับนายจ้าง โดยการตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาต่อรอง


Bargaining Unit กลุ่มลูกจ้างที่มีสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง

กลุ่มลูกจ้างที่นายจ้างให้การยอมรับหรือหน่วยงานของรัฐให้การรับรองให้เป็นกลุ่มลูกจ้างที่มีสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง


Base Rate อัตราค่าจ้างมูลฐาน

อัตราค่าจ้างต่อระยะเวลาทำงานปกติ ซึ่งอาจกำหนดจำนวนค่าจ้าง (รวมทั้งค่าจ้างตามผลงาน) ต่อชั่วโมง ต่อวัน ต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือนโดยไม่รวมค่าล่วงเวลาหรือผลประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ถือเป็นอัตราค่าจ้างปกติที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลา โบนัสหรือเงินจ่ายอื่น ๆ


Basic Workday ชั่วโมงทำงานมูลฐานต่อวัน

จำนวนชั่วโมงทำงานมูลฐานในหนึ่งวัน ตามมาตรฐานทั่วไปคือ วันละ ๘ ชั่วโมง


Basic Workweek ชั่วโมงทำงานมูลฐานต่อสัปดาห์

จำนวนชั่วโมงทำงานมูลฐานในหนึ่งสัปดาห์


Benefit Plans โครงการช่วยเหลือสมาชิกสหภาพแรงงานเมื่อประสบความเดือดร้อน

โครงการที่สหภาพแรงงานจัดให้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสมาชิกให้มีหลักประกันเมื่อประสบความเดือดร้อนจากภาวะการว่างงาน เจ็บป่วย ประสบอันตราย พิการและอื่นๆ โดยใช้จ่ายจากเงินค่าบำรุงสหภาพแรงงาน บางโครงการอาจเรียกเก็บจากสมาชิกเป็นกรณีพิเศษโดยความสมัครใจ


Bidding การให้สิทธิสมัครเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่าง

ระบบการบรรจุตำแหน่งงานที่ว่าง โดยให้สิทธิพิเศษแก่ลูกจ้างปัจจุบัน สมัครเข้ารับตำแหน่งงานนั้น


Bilateral Action การกระทำแบบทวิภาคี

การกระทำที่นายจ้างกับลูกจ้างจะต้องหารือหรือตัดสินใจร่วมกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำโดยลำพังหรือไม่ได้รับความเห็นชอบและยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนนำไปปฏิบัติไม่ได้ ดูคำว่า unilateral action


Bindle Stiffs ทวิภาคี

วิธีดำเนินการหรือทำกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย


Blacklist บัญชีลับ

หมายถึงรายชื่อลูกจ้างที่นายจ้างทั้งหลายร่วมมือกันไม่รับเข้าทำงาน ลูกจ้างที่มีชื่ออยู่ในบัญชีลับของนายจ้างโดยทั่วไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นผู้นำแรงงานหรือหัวหน้าคนงานไม่เป็นทางการ (Straw Boss) หรือ ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นบุคคลดังกล่าว ซึ่งมีพฤติการณ์ในทางก่อกวนปลุกปั่นและยุยงส่งเสริมคนงานหรือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการเรียกร้องและนัดหยุดงาน รายชื่อลูกจ้างเหล่านี้จะถูกหมุนเวียนเป็นการลับให้ทราบทั่วกันในหมู่ของนายจ้างเพื่อไม่ให้นายจ้างคนใดรับเข้าทำงานด้วย


Blue Collar Workers คนงานหรือกรรมกร

คนงานประเภทที่ทำงานด้วยมือหรือใช้กำลังกายในการทำงาน คนงานประเภทนี้มักทำงานนอกสำนักงาน เช่น ทำงานกลางแจ้งหรือภายในโรงงานที่ทำการผลิต การเก็บรักษา ทำงานกับเครื่องมือ เครื่องจักร


Blue Sky Bargaining การเจรจาต่อรองที่เป็นไปไม่ได้

การเจรจาต่อรองที่นายจ้าง – ลูกจ้าง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลหรือเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้การเจรจาต่อรองไม่ประสบผลสำเร็จ แท้จริงแล้วกรณีนี้ไม่ใช่การร่วมเจรจาต่อรอง


Bonus โบนัสหรือเงินรางวัลพิเศษ

เป็นเงินเพิ่มพิเศษที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือจากเงินเดือน รายได้ประจำหรือค่าจ้างตามปกติ ในประเทศไทยคำว่า “โบนัส” มักหมายถึง เงินเพิ่มรายปี (year-end bonus) รายหกเดือน สี่เดือนหรือสามเดือน แล้วแต่นายจ้างจะกำหนดหรือตกลงกับลูกจ้าง ส่วนจำนวนเงินที่จ่ายนั้นขึ้นอยู่กับฐานะ ผลกำไรและนโยบายของสถานประกอบการกับความสามารถ และความขยันขันแข็งของลูกจ้าง แต่ในต่างประเทศบางแห่ง อาจหมายความรวมถึงค่าตอบแทนพิเศษ (Premium Pay) ที่จ่ายให้กับการทำงานในเวลาวิกาล การทำงานในวันหยุด การทำล่วงเวลา และการทำงานที่เสี่ยงอันตรายด้วย


Boondoggling งานที่ให้ทำโดยไม่หวังผล

งานที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีประโยชน์ แต่มอบหมายให้ลูกจ้างทำเพียงเพื่อให้ลูกจ้างมีงานทำ คำนี้ใช้ในกรณีที่มีการสร้างงานในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยใช้งบประมาณของรัฐ แต่ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมีน้อยมาก


Bootleg Wages ค่าจ้างนอกระบบ

อัตราค่าจ้างที่สูงหรือต่ำกว่าอัตราที่จ่ายกันทั่วไปในตลาดแรงงานนายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างในภาวะที่ขาดแคลนแรงงานหรือภาวะที่มีแรงงานล้นตลาด


Boycott บอยคอตหรือการคว่ำบาตร

เมื่อฝ่ายลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเห็นว่า นายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรมในด้านแรงงาน หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายตน สหภาพแรงงานอาจทำการบอยคอต (คว่ำบาตร) โดยพร้อมใจกันงดซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของนายจ้าง ไม่ติดต่อซื้อขายด้วย ไม่ให้การสนับสนุนและความร่วมมือใดๆ ในกิจการของนายจ้าง อาจทำให้การดำเนินธุรกิจของนายจ้างต้องติดขัดด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากนี้ยังพยายามชักจูงคนทั่วไปให้ร่วมต่อต้านด้วย เพื่อให้นายจ้างคู่กรณีต้องถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ มุ่งที่จะให้นายจ้างยอมจำนนและยอมตามเงื่อนไขของสหภาพฯหรือฝ่ายลูกจ้าง


Break-In Time ระยะปรับตัว

ระยะเวลาที่นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหรือคนงานใหม่ปรับตัวเข้ากับงาน เพื่อนร่วมงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงานก่อนลงมือปฏิบัติงานจริง


Broken Time เวลาทำงานที่มีช่วงหยุดพักเป็นระยะๆ

กำหนดการทำงานที่มีระยะเวลาทำงานและระยะเวลาหยุดพักกำหนดไว้แน่นอนเป็นช่วงๆ เช่น เริ่มทำงาน เวลา ๐๘.๐๐-๑๐.๐๐ น. หยุดพัก ๑๐.๐๐-๑๐.๓๐ น. และเริ่มทำงาน ต่อไป ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. เป็นต้น


Bumping การปลดคนงานออก

การปลดคนงานออกโดยเริ่มตั้งแต่ผู้มีอาวุโสน้อยขึ้นไปเป็นวิธีการที่บริษัทหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ จะกระทำในกรณีที่มีการปรับปรุงงาน การจัดองค์การใหม่เพื่อลดต้นทุนการผลิต กิจการขาดทุนหรือจะต้องปิดกิจการ เป็นต้น


Business Agent เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน

เจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานที่ทำงานเต็มเวลา โดยได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแล จัดการเกี่ยวกับปัญหาแรงงานสัมพันธ์ การบริหารงานหรือการเงินของสหภาพแรงงาน