การไหว้ครู
"ครู” มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก” อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคนๆหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู” จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย
ในชีวิตของคนๆหนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก” ของเราแล้ว การที่เด็กๆจะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู” ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น ครู จึงเป็นบุคคลสำคัญเป็นที่สอง รองไปจากบิดามารดาที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน เพราะหากโลกนี้ ไม่มีผู้ที่ทำหน้าที่เป็น "ครู” แล้ว สรรพวิชาต่างๆก็คงสูญหายไปจากพิภพ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงเป็น "ครูของโลก” พระองค์หนึ่ง
ด้วยเหตุนี้เอง "การบูชาครู” หรือ "การไหว้ครู” จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต
ในความหมายของ "การไหว้ครู” ก็คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่าตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน
พิธีไหว้ครู หรือ การไหว้ครู นี้มีหลายอย่าง เช่น การไหว้ครูนาฏศิลป์ ไหว้ครูดนตรี ไหว้ครูโหราศาสตร์ ไหว้ครูแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไป เมื่อเอ่ยถึง พิธีไหว้ครู เรามักจะหมายถึง การไหว้ครูในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในช่วงเปิดภาคการศึกษา โดยในสมัยโบราณมักจะใช้ดอกมะเขือ ดอกเข็ม หญ้าแพรก และข้าวตอกเป็นเครื่องบูชาครู เพราะเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายและมีความหมายที่ดี กล่าวคือ ดอกมะเขือ ที่งอกงามได้อย่างรวดเร็ว ใช้เป็นสัญลักษณ์เสมือนให้เกิดปัญญาความคิดที่พร้อมจะรับความรู้ได้อย่างรวดเร็ว หญ้าแพรก เปรียบเสมือนเด็กที่มาเล่าเรียน เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที ส่วนดอกเข็ม คือ การขอให้มีสติปัญญาแหลมคมดุจดอกเข็ม และข้าวตอก เสมือนหนึ่งให้มีปัญญาความคิดแตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็วเหมือนข้าวตอกเมื่อได้รับความร้อน ปัจจุบันการหาดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก อาจจะกลายเป็นสิ่งที่หายากขึ้น ดังนั้น เครื่องบูชาครูจึงมีการประยุกต์ใช้เป็นพานพุ่ม หรือดอกไม้อื่นๆแทน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย แต่ที่เป็นสาระสำคัญของการไหว้ครูก็คือ การแสดงถึงความเคารพ และความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ผู้ให้สติปัญญาแก่เรานั่นเอง
โดยทั่วไป พิธีไหว้ครูมักจะจัดในวันพฤหัสบดี ด้วยถือว่าพระพฤหัสเป็นเทพที่ส่งเสริมวิทยาการและความเฉลียวฉลาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติของครู จึงถือเอาวันนี้เป็นวันไหว้ครู เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระพรหมคุณาภรณ์ได้เขียนในหนังสือ”ธรรมนูญชีวิต” ว่าในทางพุทธศาสนา ถือว่า ครูอาจารย์
คือ ทิศเบื้องขวา หมายถึง ผู้ที่ควรเคารพ ซึ่งมีหน้าที่ต่อศิษย์ตามหลักธรรมอยู่ ๕ ประการคือ
๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพ และรู้จักดำรงรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดีและในฐานะศิษย์
ทางพุทธศาสนาก็สอนให้แสดงความคารวะนับถือตอบครูอาจารย์ ๕ประการเช่นกัน คือ
๑. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
๒. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ ฯลฯ
๓. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา ๔.ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ
ในยุคปัจจุบันที่กระแสบริโภคนิยม และระบบทุนนิยมกำลังครอบงำทั้งโลก หลายๆคน อาจจะมองว่าอาชีพ "ครู”เป็นเพียงผู้รับจ้างสอนหนังสือ ส่วนครูเองก็ตกอยู่ในภาวะท้อแท้ ถดถอย ขาดกำลังใจจากระบบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน แต่อย่างไรก็ดี ยังมี "ครู” อีกจำนวนไม่น้อยทั้งในและนอกระบบการศึกษา ที่ยังมีจิตวิญญาณของการเป็น "ครู” ทำหน้าที่สอนสั่ง พร้อมถ่ายทอดวิชาความรู้อยู่ในสังคมอย่างต่อเนื่อง และแม้ "พิธีไหว้ครู” จะกลายเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งในการแสดงความเคารพนบนอบ ไม่ว่าจะเป็นอย่างทางการหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อว่าพิธีดังกล่าวก็ได้มีส่วนเชื่อมโยงสายใยแห่งความผูกพันระหว่าง"ผู้ให้” และ "ผู้รับ” คือ ครูและศิษย์ อย่างแน่นอน รวมทั้งยังช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆต่อกันด้วย
โลกที่ไร้พรมแดนและเทคโนโลยีที่ก้าวไกลเช่นปัจจุบัน แม้เราจะสามารถหาวิชาความรู้ได้เองจากหนังสือ เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่ออิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ฯลฯ แต่เชื่อว่า คนเราก็ยังปรารถนาจะได้ "ครูที่เป็นคน” ซึ่งสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเรามากกว่า "ครูที่ไร้ชีวิต” เพราะโดยแท้จริงแล้ว หน้าที่ของครู มิเพียงเติมเต็ม "วิชาความรู้” แก่เราเพื่อประกอบสัมมาชีพเท่านั้น แต่ท่านยังได้จุด "ประทีปปัญญา” ส่องทางในการดำเนินชีวิตแก่ศิษย์ด้วย